แนะแนว


กศน. คืออะไร
          กศน. คือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ...กศน. มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน...แต่ก่อน คำว่า กศน. แปลว่า การศึกษานอกโรงเรียน แต่ปัจจุบัน หลังจากมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 เกิดขึ้น  กศน. จึงหมายถึง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
          หน่วยงานสังกัด กศน. มีหลายระดับ คือ ส่วนกลางเรียกว่าสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  มีชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน. มีเลขาธิการ กศน.เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ ข้าราชการและบุคลากรทุกประเภท
          ระดับจังหวัดเรียกว่าสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร มีชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน. จังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร มีผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดหรือกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ ข้าราชการและบุคลากรทุกประเภทในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
ระดับอำเภอเรียกว่าศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ มีชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน. อำเภอ อัธยาศัย จังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร มีชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน. จังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร มีผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอหรือเขตเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ ข้าราชการและบุคลากรทุกประเภทในอำเภอหรือเขต
นอกจากนั้น สำนักงาน กศน. ยังมีหน่วยงานในสังกัดอีกหลายประเภท เช่น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้อาคารเสมารักษ์ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค และศูนย์ฝีกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน เป็นต้น
ชื่อหน่วยงาน กศน. ค่อนข้างยาว ท่านสามารถเรียกชื่อย่อได้ เช่น สำนักงาน กศน. สำนักงาน กศน.จังหวัด และ กศน. อำเภอ เป็นต้น
เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานกับ กศน. (ประถม, มัธยมต้น และมัธยมปลาย)
          วิธีการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ มีแนวทางในการจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ทั้งหมดเรียกว่า วิธีเรียน กศน.
วิธีเรียน ของกศน.เขตมีนบุรี จะเน้นการเรียนรู้แบบพบกลุ่มและทางไกล ซึ่งเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาข้อสรุปร่วมกัน
นอกจากการเรียนรู้จากการพบกลุ่มแล้ว ยังได้ เติมเต็มความรู้ โดยการสอนเสริมในวิชาบังคับ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จากวิทยากรผู้ชำนาญการ (ครูผู้สอนการศึกษาในระบบ/ผู้ชำนาญการเฉพาะ)
นอกจากการเรียนเสริมแล้ว ยังได้ เติมเต็มความรู้ โดยการเรียนรู้จากสื่อ ประเภทดีวีดีของบริษัทต่าง ๆ สื่อที่กำลังมาแรงอีกหนึ่งสื่อ คือ รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา Student channel ติวเข้มเติมเต็มความรู้ ของสำนักงาน กศน.ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00– 12.00น. และสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา ระทรวงศึกษาธิการ(ETV) เป็นสื่อที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบได้มีทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจะเชิญวิทยากรจากสถาบันชื่อดังมาให้ความรู้
การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนโดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากภูมิปัญญา ผู้รู้ และสื่อต่าง ๆ
การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยที่ผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ หรือถ้ามีความจำเป็นอาจพบกันเป็นครั้งคราว
การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียนและสถานที่ ที่ชัดเจน ซึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้นี้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียน



หลักฐานการเรียนรู้

          หมายถึง การกำหนดชิ้นงาน ภาระงาน หรือลักษณะของชิ้นงาน ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้เรียนที่ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ของแต่ละเรื่อง หรือแต่ละขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถนำไปสู่การประเมินเพื่อปรับปรุงคุณภาพผู้เรียนให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ และสามารถทำได้ตามที่มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ที่ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการยืนยัน สร้างความมั่นใจให้กับครูว่า ผู้เรียนมีความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ จริง หลักฐานการเรียนรู้ที่เป็นการแสดงผลการเรียนรู้ 1 อย่าง อาจจะตอบได้หลายเป้าหมายของการเรียนรู้ก็ได้ เนื่องจากเป็นหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชัดเจนการกำหนดหลักฐานการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เรียนนั้น ต้องเป็นหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ด้วยวิธีการประเมินอย่างหลากหลาย และมีความต่อเนื่องจนจบสิ้นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากครูกำหนดให้ หรืออาจให้ผู้เรียนร่วมกันกำหนดขึ้นจากการวิเคราะห์ตัวชี้วัดในหน่วยการเรียนรู้นั้น เช่น บันทึกการฝึกทักษะ บันทึกการเรียนรู้ รายงาน แบบฝึกหัด โครงงาน แฟ้มสะสมงาน ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้

1. บันทึกการฝึกทักษะ
หมายถึง ข้อความที่ผู้เรียนจดหรือบันทึกเกี่ยวกับทักษะ ภาระงานที่ได้รับการฝึกปฏิบัติในการเรียนรู้รายวิชาต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของผู้เรียนที่เกี่ยวกับการฝึกทักษะในเรื่องดังกล่าว

2. บันทึกการเรียนรู้
หมายถึง บันทึกที่ผู้เรียนจัดทำขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน และประโยชน์ที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียนรู้ทั้งในส่วนขององค์ความรู้และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
บันทึกการเรียนรู้ อาจมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
          1. ปกหน้า
          2. ปกใน
          3. รายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้เรียน  ประกอบด้วย
                   3.1 ชื่อ-นามสกุล
                   3.2 รหัสประจำตัวนักศึกษา
                   3.3 ระดับชั้นที่กำลังศึกษา
                   3.4 ศรช.ที่นักศึกษาสังกัด
                   3.5 สถานศึกษาที่นักศึกษาสังกัด
          4. ส่วนบันทึกการเรียนรู้ ประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
                   4.1 สาระการเรียนรู้ และรายวิชาที่ศึกษา
                   4.2 หัวข้อที่ศึกษา หรือที่ครูมอบหมายให้ศึกษา
                   4.3 จุดประสงค์ที่ศึกษาในหัวข้อนั้น เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักการตั้งจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ อันจะเป็นกรอบ หรือแนวทางการศึกษาในหัวข้อที่สนใจ และสามารถประเมินผลการเรียนรู้ ด้วยตนเอง โดยเทียบกับจุดประสงค์ในการเรียนรู้ที่ผู้เรียนตั้งไว้
                   4.4 ขั้นตอนการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การทำงานอย่างมีระบบ และเพื่อฝึกการวางแผนการทำงาน การกำกับควบคุมตนเองและเวลาการทำงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้งานสำเร็จตามจุดประสงค์ และระยะเวลาที่วางไว้ ซึ่งในขั้นตอนการศึกษา ผู้เรียนจะต้องระบุรายละเอียดดังนี้
                             4.4.1 ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล ระบุว่ามีวิธีรวบรวม ข้อมูลอย่างไร เช่น ค้นหาเอกสารจากที่ใด หรือสอบถามผู้ใด จดบันทึกข้อมูลที่หาอย่างไร
                             4.4.2 ขั้นจัดการข้อมูล ระบุว่าข้อมูลที่ได้ ผู้เรียนมีการจัดแบ่งเนื้อหาเป็น หัวข้ออย่างไร นำข้อมูลมาใช้อย่างไร
                   4.5 สรุปเนื้อหาที่เรียนรู้แบบย่อ โดยสรุปเนื้อหาสาระความรู้ที่สำคัญ ทั้งนี้ตามหัวข้อที่ผู้เรียนจัดทำไว้
                   4.6 ผลการเรียนรู้ ให้บอกถึงผลของการศึกษาค้นคว้าที่เกิดกับตัวผู้เรียน ในส่วนของความรู้และการพัฒนาตนเอง
                   4.7 การนำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาอื่น ๆ หรือในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้เรียนจะต้องระบุให้ชัดเจน หากเนื้อหาในเรื่องที่ศึกษาไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาอื่น ๆ หรือในชีวิตประจำวันได้ ก็ให้ระบุเหตุผลให้ชัดเจน
                   4.8 ความคิดเห็นของครูประจำวิชา เป็นความคิดเห็นของครูต่องานที่ผู้เรียนจัดทำ ครูต้องแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ต่องานของผู้เรียน ครูต้องมีเหตุผลประกอบเพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากข้อคิดเห็นของครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการศึกษาค้นคว้า ครูจึงไม่ควรละเลยส่วนนี้ไป เพราะส่งผลต่อกำลังใจในการศึกษาเรียนรู้ของผู้เรียน

3. การรายงาน
หมายถึง การศึกษาค้นคว้า หาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ หรือจากการทดลองการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ ของผู้เรียน ที่นำสารสนเทศดังกล่าวมาประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ถูกต้องและเรียบเรียงอย่างมีแบบแผนที่กำหนด อาจศึกษาค้นคว้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ผู้เรียนสนใจ หรือเป็นเรื่องที่ครูกำหนดให้ศึกษาค้นคว้า รายงานเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาในปัจจุบัน และถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการศึกษา การทำรายงานอาจทำเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มก็ได้ ความยาวของรายงานขึ้นอยู่กับขอบเขตของหัวข้อรายงาน และระยะเวลาในการทำรายงาน

ตัวอย่างขั้นตอนการทำรายงาน
          3.1. หัวข้อเรื่อง อาจจะกำหนดโดยครู หรือผู้เรียนเลือกเอง หากเลือกเองควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ มีขอบเขตเนื้อหาไม่กว้างหรือแคบเกิน และคาดว่าจะมีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้าอย่างเพียงพอ จะช่วยให้การทำรายงานสนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้น ส่วนการตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งให้กะทัดรัด ครอบคลุมเนื้อหา และวัตถุประสงค์ของรายงานที่ทำ
          3.2. ค้นคว้าข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง เช่น หนังสือ อินเตอร์เน็ต ซีดีที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ จะได้ความละเอียด แม่นยำ หลากหลายและทันสมัย
          3.3. เรียบเรียงข้อมูล โดยวางโครงเรื่องให้เป็นหมวดหมู่ตามลำดับ แบ่งเนื้อหาเป็นบท จากหัวข้อใหญ่ที่มีความสำคัญมาก ตามด้วยหัวข้อย่อยที่มีความสำคัญรองลงมา จากนั้นจึงเขียนอย่างเป็นระบบเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ
          3.4. การทำเอกสารอ้างอิง อ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ใช้ค้นคว้า เพื่อความสมบูรณ์และน่าเชื่อถือของเนื้อหารายงาน นอกจากทำรายงานแล้ว การนำเสนอหน้าชั้นก็มีความสำคัญ ต้องศึกษาเนื้อหาให้เข้าใจอาจจดหัวข้อสำคัญไว้ดูเผื่อลืม รวมทั้งฝึกซ้อมพูดก่อนนำเสนอจริง เพื่อความพร้อมและความสมบูรณ์ของงาน

4. การทำแบบฝึกหัด
หมายถึง สื่อการเรียนที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดเพื่อช่วยเสริมให้เกิดทักษะ ความรู้และความเข้าใจในบทเรียนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียนนั้น

5. โครงงาน
หมายถึง การเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจของผู้เรียน ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลาย ๆ สิ่งที่สงสัยและต้องการรู้คำตอบให้ลึกซึ้ง ชัดเจน หรือต้องการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ความรู้หลาย ๆ ด้าน และทักษะกระบวนการที่ต่อเนื่อง มีการวางแผนในการศึกษา และรับผิดชอบปฏิบัติตามแผน จนได้ข้อสรุปหรือผลการศึกษา หรือคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างเป็นระบบ เรื่องที่จะทำโครงงานควรเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจและสอดคล้องตามสาระการเรียนรู้ตามรายวิชานั้น
          ขั้นตอนการทำโครงงานของผู้เรียน
          1. ครูให้ความรู้เกี่ยวกับการทำโครงงานและผู้เรียนทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงงาน
          2. ผู้เรียนและครูร่วมกันศึกษาหลักสูตร และวิเคราะห์สาระของรายวิชา
          3. ผู้เรียนเลือกหัวข้อในการทำโครงงานตามความสนใจ
          4. ผู้เรียนและครูร่วมกันจัดทำแผนการทำโครงงาน
          5. ผู้เรียนศึกษา ค้นคว้า เอกสารและแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง
          6. ผู้เรียนเขียนโครงร่างการทำโครงงานเพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อครู โดยครูต้องวิเคราะห์โครงร่างให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของสาระรายวิชา หากไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของสาระรายวิชาดังกล่าว ครูต้องสอนเสริมและให้ค้นคว้าเพิ่มเติม
          7. ผู้เรียนจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการการทำโครงงาน (ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร)
          8. ผู้เรียนปฏิบัติตามแผน โดยมีการจดบันทึกผลการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและนำเสนอความก้าวหน้า ผู้เรียนและครูร่วมกันประเมินผลการทำโครงงานเป็นระยะ ตามแผนปฏิบัติการ
          9. ผู้เรียนเขียนรายงานสรุปผลการทำโครงงาน
          10. ผู้เรียนนำเสนอผลการทำโครงงานต่อสาธารณะ โดยใช้สื่อเทคโนโลยี นิทรรศการและสื่ออื่น ๆ ตามความเหมาะสม
          11. ผู้เรียนและครูร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้แบบโครงงาน
เกณฑ์การประเมินโครงงาน พิจารณาจากองค์ประกอบ ดังนี้
          1. ความสามารถในการทำโครงงาน
                   - การเลือกหัวข้อเรื่องในการทำโครงงาน
                   - ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
                   - โครงงานที่ทำเป็นงานใหม่ หรือศึกษาเพิ่มเติมจากของเดิม
          2. ความสามารถในการดำเนินการทำโครงงาน
                   - ด้านเนื้อหาของโครงงาน
                             ถูกต้องตามหลักการความเป็นจริง
                             มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                             เลือกใช้แหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้
                             สรุปความรู้ชัดเจนตรงตามจุดประสงค์
                   - ด้านทักษะกระบวนการ
                             มีทักษะกระบวนการคิดในการแก้ปัญหา
                             ศึกษาปัญหา ทำความเข้าใจกับปัญหา
                             วางแผนอย่างเป็นระบบ
                             ดำเนินการตามแผนครบทุกขั้นตอน
                             ประเมินและปรับปรุงการดำเนินการได้เหมาะสม
                             มีทักษะกระบวนการคิดและการสื่อสาร
                             มีความสามารถในการศึกษา ค้นคว้าจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้
                             มีการเขียนรายงานผลการทำโครงงานถูกต้องและสื่อความหมายได้ชัดเจน
          3. ความสามารถในการนำเสนอโครงงาน
                   แนวคิดและวิธีการเรียนรู้ความรู้ใหม่ที่ค้นพบ
                   ข้อสรุปของโครงงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
                   ข้อมูลสมบูรณ์และชัดเจน
                   รูปแบบนำเสนอเหมาะสม
          4. ความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของรายวิชา
                   บรรลุตัวชี้วัดของรายวิชา

ตัวอย่างหัวข้อการเขียนโครงงาน
          1. ชื่อโครงงาน
          2. หลักการและเหตุผล
          3. วัตถุประสงค์
          4. เป้าหมาย
          5. ขอบเขตของการศึกษา
          6. วิธีดำเนินงานและรายละเอียดของแผน
          7. ระยะเวลาดำเนินงาน
          8. งบประมาณ
          9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
          10. ชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน
          11. ชื่อครูที่ปรึกษา


6. แฟ้มสะสมงาน
หมายถึง สิ่งที่เก็บรวบรวมตัวอย่าง หรือ หลักฐานที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ ความสามารถ ความพยายาม ความถนัดของบุคคลหรือ ประเด็นที่ต้องจัดทำแฟ้มสะสมงานไว้อย่างเป็นระบบในการจัดทำแฟ้มสะสมงานมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
          1. เพื่อให้เจ้าของแฟ้มได้ประเมินตนเองว่า ผลการเรียนรู้หรืองานที่ทำเป็นอย่างไร ประสบผลสำเร็จในระดับใด มีระบบหรือไม่ ควรจะปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ อย่างไร
          2. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ประเมินเจ้าของแฟ้มว่า มีความสามารถในการเรียนรู้หรือการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จในระดับใด ควรจะได้รับการช่วยเหลือหรือพัฒนาหรือไม่อย่างไร


องค์ประกอบสำคัญของแฟ้มสะสมผลงาน มีดังนี้
          1. ส่วนนำ ประกอบด้วย ปก ข้อมูลส่วนตัวของผู้เรียน ข้อมูลผลการเรียน สารบัญ
          2. ส่วนเนื้อหาของแฟ้มสะสมงาน เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดของผลงานและความคิดเห็นของตนเองต่อผลงานที่ได้เลือก อาจจัดจำแนกตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หรือลักษณะธรรมชาติของงานก็ได้
          3. เกณฑ์การตัดสินผลงาน ผลการประเมินครู ของตนเอง และของเพื่อนรวมทั้งภาคผนวก(ถ้ามี)

7. การสอบ
หมายถึง การประเมินหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้า ทั้งด้านความรู้
ทักษะ กระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ อันเป็นผลเนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย เน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปในกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน



โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551




หมายเหตุ วิชาเลือกและวิชาบังคับในแต่ละระดับสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียน เรียนรู้จากการทำโครงงาน จำนวนอย่างน้อย 3 หน่วยกิต
       จากโครงสร้างหลักสูตรดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรายวิชาบังคับ ตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตร สำหรับรายวิชาเลือกนักศึกษาสามารถเลือกตามรายวิชาที่สำนักงาน กศน. จัดทำขึ้น หรือพัฒนาขึ้นได้ตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน

การลงทะเบียนเรียนรายวิชา
       การลงทะเบียนเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ให้ลงทะเบียนเรียนเป็นรายวิชาและตามจำนวนหน่วยกิต ในแต่ละภาคเรียนดังนี้
       1. ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
       2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
       3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต







การพิจารณาเลือกรายวิชาต่าง ๆ ลงทะเบียนเรียน
       1. ครู ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาจัดรายวิชาต่าง ๆ ลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียน
       2. พิจารณาจำนวนหน่วยกิต ที่ต้องลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียนให้เป็นไปตามที่กำหนด คือ ระดับประถมศึกษาภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต
       3. พิจารณารายวิชาที่ต้องเรียนรู้ตามลำดับ ก่อน-หลัง หรือตามสถานการณ์ รายวิชาใดต้องเรียนก่อน ก็กำหนดไว้ในภาคเรียนแรก ๆ
       4. ความต่อเนื่องของการลงทะเบียนในรายวิชาต่าง ๆ สถานศึกษาอาจมีการพิจารณาลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนเดียวกัน หรือภาคเรียนถัดไป ทั้งนี้การลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนเดียวกัน ต้องจัดการเรียนรู้ตามลำดับก่อน-หลังของเนื้อหา
       5. กระจายรายวิชาที่ยาก และรายวิชาที่ง่ายให้คละกันไปในแต่ละภาคเรียน เช่นแยกรายวิชาคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ควรลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนเดียวกัน
       รายวิชาเลือก จากโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ทั้ง 3 ระดับ คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย มีรายวิชาที่ให้เลือกเรียน จำนวน 12,16, และ 32 หน่วยกิต ตามลำดับในส่วนรายวิชาที่ให้เลือกนั้น ผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามความต้องการ หรือตามปัญหาของสังคม หรือของผู้เรียนในขณะนั้นโดยรายวิชาเลือกเหล่านี้อาจจะได้มาจากที่สำนักงาน กศน. หรือสถานศึกษาพัฒนาขึ้นตามความต้องการของผู้เรียน

การวัดผลประเมินผลการเรียน
        การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  มี 2 ลักษณะได้แก่
        1. การวัดและประเมินผลรายวิชา  สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลรายวิชาดังนี้
              1.1. การวัดและประเมินผลก่อนเรียน  เป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะและความพร้อมต่าง ๆ ของผู้เรียนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมและความรู้พื้นฐานของผู้เรียน
              1.2.  การวัดและประเมินผลระหว่างภาคเรียน   สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลระหว่างภาคเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้  ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมการเรียนการร่วมกิจกรรมและผลงาน อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้   รายละเอียดของคะแนนระหว่างภาค ประกอบด้วย
                  1).  การให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา  หมายถึง การที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมใน
กิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษา เช่น การร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การเข้าร่วมในวันสำคัญ ร่วมกิจกรรมของสถานศึกษา เป็นต้น
                  2).  ผลงานที่กำหนดเป็นร่องรอยในแฟ้มสะสมงาน
                  3).  การแสดงออกและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้  หมายถึง การร่วมอภิปรายการช่วยงานกลุ่ม การตอบคำถาม
              1.3.  การวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน  มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนรู้โดยรวมของผู้เรียนในแต่ละรายวิชา  โดยใช้เครื่องมือ เช่น แบบทดสอบปรนัย แบบทดสอบอัตนัย แบบประเมินการปฏิบัติ เป็นต้น
การวัดและประเมินผลปลายภาคเรียนนั้น  ผู้เรียนที่จะผ่านการประเมินรายวิชาใด  จะต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนและมีคะแนนปลายภาคเรียนรวมกับคะแนนระหว่างภาคเรียนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด                     
              1.4 การตัดสินผลการเรียนรายวิชา
                การตัดสินผลการเรียนรายวิชา  ให้นำคะแนนระหว่างภาคเรียนมารวมกับคะแนนปลายภาคเรียน  และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ  50  จึงจะถือว่าผ่านการเรียนในรายวิชานั้น
                ทั้งนี้  ผู้เรียนต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนด้วย  แล้วนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดโดยให้ค่าระดับผลการเรียนเป็น  8 ระดับ ดังนี้            
          ได้คะแนนร้อยละ 80-100
ให้ระดับ   4
หมายถึง
ดีเยี่ยม
          ได้คะแนนร้อยละ 75-79
ให้ระดับ 3.5  
หมายถึง
ดีมาก
          ได้คะแนนร้อยละ 70-74
ให้ระดับ 3  
หมายถึง
          ได้คะแนนร้อยละ 65-69
ให้ระดับ 2.5  
หมายถึง
ค่อนข้างดี
          ได้คะแนนร้อยละ 60-64
ให้ระดับ 2  
หมายถึง
ปานกลาง
          ได้คะแนนร้อยละ 55-59  
ให้ระดับ  1.5
หมายถึง
พอใช้
          ได้คะแนนร้อยละ 50-54
ให้ระดับ 1  
หมายถึง
ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด
          ได้คะแนนร้อยละ 0-49
ให้ระดับ 0  
หมายถึง
ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด


              กรณีผู้เรียนมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด  ให้ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนในรายวิชาที่ได้ค่าระดับผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์  ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การประเมินการปฏิบัติจริง  ทดสอบย่อย ประเมินจากกิจกรรม  โครงงาน หรือแบบฝึกหัด เป็นต้น  โดยเลือกให้สอดคล้องและเหมาะสมกับธรรมชาติของรายวิชา  ถ้าผู้เรียนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้ว  ให้ระดับผลการเรียนใหม่  โดยให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน  1  สำหรับผู้เรียนที่ปรับปรุงพัฒนาแล้ว  ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ  ให้ลงทะเบียนซ้ำในรายวิชาเดิมหรือเปลี่ยนรายวิชา  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  และดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนปิดการลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดไป

              1.5 การขอเลื่อนสอบปลายภาค
                ในกรณีที่ผู้เรียนมีเหตุสุดวิสัย  หรือมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินไม่สามารถเข้าสอบปลายภาคเรียนตามวัน เวลา ตามที่กำหนด  ผู้เรียนสามารถยื่นคำร้องขอเลื่อนสอบต่อสถานศึกษา  โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นพร้อมทั้งแสดงหลักฐาน  ทั้งนี้สถานศึกษาจะต้องขอเลื่อนสอบต่อผู้มีอำนาจต่อไป
              1.6 การประเมินสอบซ่อม
                 ผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการประเมินซ่อม  คือ ผู้เรียนที่เข้าสอบปลายภาคเรียน  แต่ผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชา  โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินซ่อมตาม วัน เวลา สถานที่และวิธีที่สถานศึกษาหรือต้นสังกัดกำหนด  และให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน  1


        2. การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

                 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด  โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง  จึงจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา
                                       
        3.  การประเมินคุณธรรม 
                 เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด  จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา  โดยคณะกรรมการวัดและประเมินผลของสถานศึกษาพิจารณาคุณธรรมเบื้องต้น  ที่สำนักงาน กศน. กำหนด  ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้  โดยเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการประเมินคุณธรรม
                 กรอบของคุณธรรม  เบื้องต้นที่สำนักงาน กศน. กำหนดเพื่อใช้เป็นหลักในการประเมิน มีจำนวน 9 คุณธรรม ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
                 กลุ่มที่  1 คุณธรรมเพื่อการพัฒนาตน ประกอบด้วย
                         1. สะอาด
                         2. สุภาพ
                         3. กตัญญูกตเวที
                 กลุ่มที่ 2  คุณธรรมเพื่อการพัฒนาการทำงาน ประกอบด้วย
                         4. ขยัน
                         5. ประหยัด
                         6. ซื่อสัตย์
                 กลุ่มที่ 3  คุณธรรมเพื่อการพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบด้วย
                         7. สามัคคี
                         8. มีน้ำใจ
                         9. มีวินัย
                 บทบาทของผู้เรียนในการประเมินคุณธรรมคือ
                         1.  ศึกษาพฤติกรรมบ่งชี้ของคุณธรรมแต่ละด้าน
                         2.  ฝึกปฏิบัติ พัฒนาตนเองให้มีคุณธรรมตามพฤติกรรมบ่งชี้
                         3.  รวบรวมหลักฐานเพื่อแสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมด้านต่าง ๆ
                         4.  ประเมินตนเองตามแบบประเมินคุณธรรม
                         5.  ส่งแบบประเมินตนเองพร้อมหลักฐานให้ครู

พฤติกรรมบ่งชี้ของผู้เรียนในด้านคุณธรรม
                 พฤติกรรมบ่งชี้  เป็นข้อกำหนดเชิงพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับคุณธรรม  จัดทำขึ้นเป็นแนวทางให้สถานศึกษาใช้เป็นข้อมูลในการประเมินคุณธรรมผู้เรียน  สถานศึกษาสามารถปรับหรือเพิ่มเติมพฤติกรรมบ่งชี้ดังกล่าวให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนได้โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระยะเวลาการประเมิน
         1.  ดำเนินการประเมินคุณธรรมผู้เรียนระหว่างภาคเรียนและสรุปผลการประเมินเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน  เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาคุณธรรมผู้เรียนในภาคเรียนถัดไป
         2.  ดำเนินการประเมินคุณธรรมต่อเนื่องทุกภาคเรียนจนจบการศึกษาแต่ละระดับ  ซึ่งสถานศึกษาจะเห็นพัฒนาการคุณธรรมของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนจบการศึกษา
         3. สถานศึกษาพึงแจ้งผลการประเมินในระหว่างภาคเรียนให้ผู้เรียนทราบถึงระดับผลการประเมินที่ตนเองได้รับ  และสถานศึกษาต้องเสนอแนะ  หรือจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้บรรลุตามเกณฑ์ที่กำหนด

เกณฑ์การประเมิน
       การประเมินคุณธรรม  กำหนดเกณฑ์การประเมินเป็น  4 ระดับ คือ
ดีมาก   หมายถึง    ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 90 ขึ้นไปของ พฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
ดี        หมายถึง    ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 70-89 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
พอใช้   หมายถึง    ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 50-69 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
ปรับปรุง หมายถึง   ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 0-49 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
      

การสรุปผลการประเมิน
       การสรุปผลการประเมินคุณธรรม  ใช้ผลการประเมินในภาคเรียนสุดท้ายที่ผู้เรียนจบการศึกษาเพื่อนำผลการประเมินไปประกอบการศึกษาต่อหรือเพื่อประโยชน์อื่น
       ในกรณีที่ผู้เรียนย้ายสถานศึกษา  ให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดผลการประเมินในแต่ละภาคเรียนแนบพร้อมกับระเบียนแสดงผลการเรียน

แบบประเมิน
     แบบประเมินคุณธรรมผู้เรียน มี  2 แบบ
       แบบ 1 แบบประเมินคุณธรรมตามพฤติกรรมบ่งชี้รายภาคเรียน  ใช้สำหรับบันทึกผลการประเมินผู้เรียนเป็นรายบุคคลในแต่ละภาคเรียน
       แบบ 2 แบบรายงานผลการประเมินคุณธรรม ใช้เป็นหลักฐานมอบให้ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา  เพื่อผู้เรียนนำไปใช้ประกอบการศึกษาหรือประโยชน์อื่น




การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ
       
สถานศึกษาจะต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนที่เรียนในภาคเรียนสุดท้ายของทุกระดับการศึกษา  ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ในสาระการเรียนรู้ ตามที่สำนักงาน กศน. กำหนด  การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติไม่มีผลต่อการได้หรือตกของผู้เรียน    แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียน และการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา  รวมทั้งเป็นข้อมูลในการส่งเสริมสถานศึกษาในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น